สทนช. ตอบคำถาม หน้าผลไม้ปี 68 จะแล้งหรือจะล้น ?
- Parinya Chaiyasith
- 11 พ.ย. 2567
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 22 พ.ย. 2567
โดย นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เผยว่า ปีนี้ (ช่วงเวลาสิ้นปี 67-หน้าร้อนปี 68) แหล่งเก็บน้ำในพื้นที่จันทบุรี ระยอง ตราด ซึ่งเป็นพื้นที่หลักสำหรับการปลูกผลไม้เมืองร้อน มีการเก็บน้ำอยู่ในระดับ 80-90% ของความจุกักเก็บ สำหรับในพื้นที่จ.จันทบุรี ได้แก่ ลุ่มน้ำคลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำคลองพลวง เขื่อนสันทราย เขื่อนคลองพระพุทธ ส่วนในพื้นที่จ.ระยอง เช่น อ่างเก็บน้ำคลองระโอก อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ทั้งหมดมีระดับน้ำในอ่างที่ค่อนข้างดี
ดังนั้นประเมินว่าปีนี้ สถานการณ์น้ำไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล ประกอบกับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่นอกแนวท่อ ส่วนใหญ่เกษตรกรรายใหญ่ๆที่ทำเกษตรเชิงพาณิชย์ จะมีแหล่งน้ำของตนเองอยู่ในพื้นที่การเกษตร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง กล่าวว่า เมื่อปีนี้ไม่มีภาวะเอลนีโญ ดังนั้นอากาศจึงไม่อยู่ในระดับที่ร้อนจัด และปริมาณการกักเก็บน้ำในพื้นที่ค่อนข้างดี ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการผลิตไม้ผลต่างๆ
“ปีนี้ (67) ไม่ใช่ปีที่เกิดภาวะเอลนีโญ เหมือนต้นปี 66
เพราะฉะนั้นการใช้น้ำปริมาณที่ไม่เยอะ
ประกอบกับอากาศมันไม่ร้อนมาก จนเป็นเหตุให้น้ำระเหยเยอะขึ้น
ดังนั้นก็ทำให้ไม่ขาดแคลนน้ำเหมือนปี 66 ”
ส่วนความกังวลเรื่องปริมาณการใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกทุเรียน หลังเกษตรกรในพื้นที่หันมาแหปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น จากราคารับซื้อที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี รองเลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ย้ำว่า ชาวสวนที่ปลูกทุเรียนเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่ จะมีการขุดสระและกักเก็บน้ำ ลงทุนกักเก็บน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่หน้าฝน เนื่องจากต้องวางแผนเพาะปลูกอย่างดี เพราะผลไม้มีผลตอบแทนที่มูลค่าสูง จึงไม่มีความกังวลในประเด็นนี้
ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก.ที่ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร หรือ จีดีพีเกษตรในปี 2567 ว่า คาดจะขยายตัวในช่วง 0.2- 1.2% เมื่อเทียบกับปี 2566 มีปัจจัยสนับสนุน คือ ภาวะเอลนีโญที่สิ้นสุดลง ทำให้มีปริมาณฝนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
Comments