โดย ดร.วิศาล บุปผเวส หัวหน้าโครงการวิจัย ทีดีอาร์ไอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศจีน เป็นตลาดที่บริโภคทุเรียนไทยมากที่สุด ทำให้พ่อค้าที่เมืองจีน เห็นโอกาสด้านการค้า มาร่วมทุนเปิดโรงคัดบรรจุ หรือ ล้ง ที่ประเทศไทย เพื่อคัดกรองคุณภาพสินค้าตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงยังประเทศปลายทางประเทศจีน ข้อมูลนี้สอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุว่า มีล้งผลไม้ในไทย 2,122 แห่ง ระหว่างปี 2565 – 2567 มีจำนวนล้งจีนเพิ่มขึ้น 665 ราย ในขณะที่ล้งไทย ปิดตัวจาก 25 ราย เหลือ 10 ราย และในอนาคตล้งไทยอาจจะเหลือถึง 5 ราย
ดร.วิศาล บุปผเวส หัวหน้าโครงการการศึกษา “แนวทางส่งเสริมศักยภาพธุรกิจการค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร: โรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้งผลไม้)” ของคณะผู้วิจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงภาพรวมของการขยายตัวโรงคัดบรรจุผลไม้ หรือ ล้งรับซื้อผลไม้สัญชาติจีนในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ว่า ล้งต่างชาติที่เพิ่มขึ้นได้สร้างทั้งผลดี และผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของไทย
โดยผลเชิงบวกที่เกิดขึ้นประเทศ คือ เกษตรกรไทยได้ขยายการส่งออก เพิ่มปริมาณการขาย มีรายได้ดี มีกำลังซื้อ คุณภาพชีวิตดีขึ้น สร้างการลงทุนด้านการเกษตร เกิดเป็นซัพพลายเชนด้านการเกษตร กลายเป็นกิจกรรมห่วงโห่อุปทานจากสวนไปถึงการส่งออก เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้เหมาะกับการส่งออก
ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้น จนเกิดเป็นความท้าทายในวงการผลไม้ นั่นคือ คนไทยต้องทานผลไม้ไทยในราคาที่แพงขึ้น จากราคากลางผลไม้ที่ปรับตัวขึ้นจากดีมานด์ของตลาดต่างชาติ สิ่งนี้สอดคล้องกับข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่าเมื่อปี 2557 ราคารับซื้อทุเรียนหน้าสวนอยู่ที่ 34 บาทต่อกิโลกรัม ผ่านมา 9 ปี ในปี 2566 ราคารับซื้อเพิ่มขึ้นมาเป็น 129 บาทต่อกิโลกรัม
ดร.วิศาล บุปผเวส ยังบอกว่าอีกว่าที่น่ากังวล คือ ผู้ประกอบการล้งจีน เข้ามารับซื้อแข่งกับล้งไทย ทำให้มีข้อได้เปรียบเรื่องการเข้าถึงลูกค้าในตลาดจีน แหล่งเงินทุน และข้อมูลด้านการตลาด จึงห่วงใยว่าการที่พ่อค้าชาวจีนเข้ามาทำการรับซื้อทุเรียนในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อาจจะมีการสร้างอำนาจเหนือตลาดหรือไม่
“นักลงทุนจีน ที่เข้ามาประกอบการล้งในเมืองไทย
แข่งขันกับล้งไทย เมื่อเขาอยู่กับตลาดจีน
มีทั้งข้อมูล สายสัมพันธ์การเข้าถึงตลาดย่อมดีกว่าล้งไทย
เขาเข้ามาร่วมทุนในรูปแบบที่ลึกขึ้น
เขามีอำนาจเหนือตลาด มีทุน มีข้อมูลการตลาดดีกว่า เขาก็ได้เปรียบหรือไม่ ? ”
ดร.วิศาล บุปผเวส หัวหน้าโครงการวิจัย ทีดีอาร์ไอ
ดังนั้น ดร.วิศาล เสนอรัฐบาลให้เร่งดูแลปัญหาภาคการเกษตรใน 3 ประเด็น คือ
1.การขยายตลาดรับซื้อทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป เช่น กระทรวงพาณิชย์ ควรเพิ่มงบประมาณในการกระจายความเสี่ยง และสร้างมูลค่าต่อหน่วยให้ผลไม้ เช่น การแปรรูปผลไม้ เพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด แถมยังช่วยขยายตลาดรับซื้อใหม่ๆ
2.รัฐบาลควรเพิ่มบทบาทความเข้มงวดในการกำกับดูแลกฎหมายที่มีอยู่ให้มากขึ้น และติดตามเฝ้าระวัง ประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันลดการกระทำที่ผิดกฎหมาย สร้างความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย
และ 3.รัฐบาลต้องสร้างกลไกในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เช่น สนับสนุนโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรรวมตัวเป็นกลุ่ม สร้างอำนาจการต่อรองทางการตลาดให้กับชาวสวนไทย
ทั้งนี้ TDRI ยังเสนอแนวทางในการยกระดับล้งผลไม้ของไทย ด้วยเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มช่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการล้งชาวไทย สนับสนุนการรวมกลุ่มของล้งผลไม้ไทยและเกษตรกรชาวสวนผลไม้ สนับสนุนความรู้และการลงทุนด้านเทคโนโลยีทีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อสร้างความสามารถให้ล้งไทยมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าด้วยตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงการผูกขาดและการฮั้วราคารับซื้อจากผู้ค้าต่างชาติ เพื่อไม่ทำให้เกษตรกรไทยกลายเป็นแค่ผู้ผลิตและรวบรวมผลไม้เท่านั้น
ที่มา: มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทุเรียน vs ทองคำ ราคาย้อนหลัง 10 ปี , TPSO พาณิชย์! เสริมแกร่ง ติดปีกธุรกิจล้งผลไม้ | สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า , กระทรวงพาณิชย์ ศึกชิงตลาด “ทุเรียน” (ไทย) เสี่ยงสูงถูก "เวียดนาม" ล้มแชมป์ | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส
Comments