top of page
ค้นหา

เปิด 3 เหตุผล ทำ วงการเกษตรไทยตกขบวน

อัปเดตเมื่อ 9 ม.ค.

โดย นายปราโมทย์ ร่วมสุข ประธานหอการค้ากิตติมศักดิ์จังหวัดจันทบุรี



เกษตรกรไทย เป็นอาชีพที่มักถูกเล่าแบบผลิตซ้ำว่า ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของปริมาณผลผลิต เสี่ยงที่จะขาดทุน เกิดเป็นวงจรหนี้ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไทย สอดคล้องกับข้อมูลจากแบงก์ชาติ ที่ระบุว่า แรงงานไทยกว่า 31 % ทำงานในภาคการเกษตร แต่กลับสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจเพียง 9% ของจีดีพี ต่างจากเมื่อ 60 ปีที่แล้ว แรงงานไทย 60 % ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ขับเคลื่อนจีดีพีมหาศาลถึง 36 ของจีดีพี นั่นสะท้อนว่า ผลิตภาพ (Productivity) ของสินค้าเกษตรกรไทยกำลังถอยหลังลงคลอง ซึ่งต่างจากประเทศอย่าง ไอซ์แลนด์ อิสราเอล และสิงคโปร์ นั้นมีผลิตภาพทั้งขนาดและการเติบโตในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าแรงงานนอกภาคเกษตร

 

นายปราโมทย์ ร่วมสุข ประธานหอการค้ากิตติมศักดิ์จังหวัดจันทบุรี ในฐานะผู้ที่มีส่วนในการขับเคลื่อน ผลิตภาพในการปลูกทุเรียน 1 ไร่ ให้ได้ 4 ตัน วิเคราะห์ว่า ภาพรวมวงการเกษตรไทย ที่ไม่สามารถยกระดับได้อย่างประเทศอื่นๆ เพราะขาดการดำเนินยุทธศาสตร์ที่จับต้องได้ผ่าน 3 ประเด็น ได้แก่

 

1. ขาดบุคลากร เริ่มตั้งแต่ชาวสวน เพราะนับวันอายุเฉลี่ยของเกษตรกรจะมาขึ้นเรื่อยๆ เหตุเพราะคนรุ่นใหม่ หันมาทำสวนน้อยลง , ขาดแรงงาน ในภาคเกษตร ปัจจุบันแรงงานไทยหายากมากขึ้น จึงต้องแก้ปัญหาโดยการนำเข้าแรงงานต่างด้าว รวมถึงขาดแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำให้เกิดจากการแย่งตัวในอุตสาหกรรม และ ขาดเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ให้การสนับสนุน หรือ แก้ปัญหาร่วมกับเกษตรกรอย่างจริงจัง

 

2. ขาดงานวิจัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักวิชาการในหลากหลายศาสตร์ ทั้งวิจัยด้านการเกษตร วิจัยด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร และวิจัยด้านการตลาด  เนื่องจากข้อมูลที่ถูกต้อง จะเป็นสารตั้งต้นที่ดีที่ทำให้ชาวสวนได้นำองค์ความรู้ที่ถูกต้องไปต่อยอด สร้างสรรค์สินค้าตัวใหม่ๆในตลาดให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า สร้างความได้เปรียบกับคู่แข่งมากขึ้น  โดยเฉพาะสวนทุเรียน วงการเกษตรขาดงานวิจัยที่ผลักดันให้เกิดจุดขายใหม่ๆของทุเรียน หลายครั้งมีกูรูเกิดขึ้นใหม่โซเชียลมีเดีย แต่กลับไม่มีงานวิจัยวิทยาศาสตร์รองรับ จึงไม่ทำให้เกิด Value Product ใหม่ๆในวงการนี้  

 

3. ขาดเจ้าภาพที่แท้จริง – การดูแลมาตรฐานการเกษตรเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาของวงการเกษตรมานาน เช่น มาตรฐานทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP (Good Agricultural Practices) ดูแลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ที่แปลก คือ เครื่องหมายในการรับรองคุณภาพการผลิตของผู้ผลิต หรือ GMP (Good Manufacturing Practice) ควรเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่กลับเป็นกระทรวงเกษตรฯดูแล หรือ แม้กระทั่ง การเดินเอกสารและการตรวจปล่อยสินค้าขาออก ควรเป็นหน้าที่ของ กรมศุลกากร แต่เป็นของ กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งประเด็นที่เป็นปัญหา คือ ทุกครั้งที่สินค้าเกษตรมีปัญหา จะเกิดการเกี่ยงกันรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน

 

ดังนั้น นายปราโมทย์ ร่วมสุข  จึงเสนอว่า รัฐบาลไทย ควรตั้งหน่วยงานเป็นเจ้าภาพดูแลสินค้าเกษตรอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ปัญหาเรื่องบุคลากรที่ขาดแคลน ส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณในงานวิจัยด้านการเกษตร ให้คนเกษตรนำไปใช้ได้จริง ตั้งแต่วางแผนการผลิต พัฒนาสินค้า จนถึงการขยายตลาดด้วยบุกลูกค้าในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้วงการเกษตรไทยตกขบวนไปมากกว่านี้


“วงการเกษตรไทย เราเหมือนไม่มีเจ้าภาพ

ทำให้เราหลงภารกิจ และเมื่อเกิดปัญหาเราก็จะเกี่ยงกันทำ

รัฐบาลไทย ควรรีบจัดการ ด้วยการตั้งเจ้าภาพ

สร้างบุคลากร และขับเคลื่อนด้วยงานวิจัย ”

นายปราโมทย์ ร่วมสุข ประธานหอการค้ากิตติมศักดิ์จังหวัดจันทบุรี

ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page