top of page
ค้นหา

แม้ ‘ทุเรียน’ จะเป็นผลไม้ที่สร้างมูลค่าหลักแสนล้านบาทต่อปี ให้กับประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันมี ‘4 ความเสี่ยง’ ที่เปรียบเสมือน ‘ระเบิดเวลา’ รอวันปะทุ !



รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวถึงอนาคตของสินค้าเกษตรกร อย่าง ‘ทุเรียน’ ที่เป็นที่นิยมมากสำหรับประเทศจีน  โดยมีการส่งออกไปประเทศจีนถึงมากกว่า 90% ของการส่งออก หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.21 แสนล้านบาท แต่กลับมี ‘4 ปัจจัยที่เสี่ยงที่กลายเป็นระเบิดเวลา’ อาจจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรไทยทั้งระบบ ประกอบด้วย


1.คุณภาพของผลผลิต เช่น ทุเรียนอ่อน ทุเรียนไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากมาจากความต้องการทุเรียนสด ของประเทศจีนที่สูงมาก ทำให้อาจมีการลักลอบสวมสิทธิ์ ใบ GAP  หรือ ใบรับรองแหล่งผลิตในกลุ่มชาวสวน และ สวมสิทธิ์ใบ GMP หรือ ใบรับรองระบบการปฏิบัติที่ดีในการผลิตในกลุ่มโรงงานคัดบรรจุ หรือ ล้ง ซึ่งใบรับรองเหล่านี้เป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ

หากกระบวนการไม่ถูกต้อง 100% จะทำให้อนาคตมี ทุเรียนอ่อน หลุดไปยังประเทศปลายทางอีก ดังนั้น ผู้ประกอบการและเกษตรกร ต้องสร้างมาตรฐานคุณภาพทุเรียนไทยให้สูงขึ้น ด้วยการเข้าระบบตรวจสอบย้อนกลับแบบ 100 % พร้อมสร้างเอกลักษณ์ให้กับทุเรียน เพื่อสร้างมูลค่ามากขึ้น มากกว่าการขายแบบเน้นปริมาณ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ


2.ผลผลิตทุเรียนที่มีโอกาสจะ Over Supply โดยปัจจุบันตัวเลขของเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนในระบบอยู่ที่ 900,000 ไร่ ให้ผลผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี โดย อ.อัทธ์ เชื่อว่า มีเกษตรกรที่ปลูกจริงในไทยสูงถึง 1.5 ล้านไร่ และปี 2567 จะมีผลผลิตทุเรียนออกมาสู่ท้องตลาดอาจสูงถึง 1.5 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มผลผลิตจะสูงถึง 2 ล้านตันต่อปี แต่ในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยเพื่อนบ้าน อย่าง ประเทศมาเลเซีย ผลิตทุเรียนได้ถึง 400,000 ตันต่อปี ประเทศเวียดนาม ผลิตทุเรียนได้มากถึง 800,000 ตันต่อปี  ประเทศลาว ผลิตทุเรียนได้ 100,000 ตันต่อปี และ กัมพูชา ผลิตทุเรียน 100,000 ตันต่อปี รวม 4 ประเทศมีผลผลิตถึง 1,400,000 ตันต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า ประเทศจีนในฐานะลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลวางแผนจัดการเรื่องอุปสงค์-อุปทานของทุเรียนไม่สมดุล ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาที่ไม่มีเสถียรภาพในอนาคต


3.ความเสี่ยงด้านการตลาดที่ถูกควบคุมโดย ‘นายทุนต่างชาติ’ อย่างที่หลายคนรู้กันว่า โรงคัดบรรจุ หรือ ล้ง รับซื้อทุเรียนเพื่อส่งออก ในพื้นที่ภาคตะวันออก บางล้งผู้ประกอบการไทยเป็นนอมินีให้นายทุนต่างชาติ ซึ่งทำให้ราคาซื้อขายทุเรียนสดในตลาดอาจถูกควบคุมโดยคนบางกลุ่ม

ขณะที่ ผู้ประกอบการไทย ที่ยังดำเนินธุรกิจได้ คือ ผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ที่ธุรกิจแบบครบวงจร  ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยหลายราย ก็เริ่มปรับตัวไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนนายทุนต่างชาติเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น รัฐบาลควรเข้าไปดูแลเรื่องการทำตลาดสินค้าเกษตรเอง มากกว่าจะอาศัยผู้ประกอบการต่างชาติ เพื่อความยั่งยืน

“ปัจจุบัน ล้งไทย กำลังโต้คลื่นในทะเลอันกว้างใหญ่

ไม่รู้ว่าจะต้านทานกระแสของคลื่นลม ได้แค่ไหน

ล้งไทย ที่ยืนอยู่ได้ เพราะทำสินค้าเกษตรครบวงจร

เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรเข้ามาทำการตลาดทุเรียนเอง

อย่าปล่อยให้ต่างชาติ เข้ามาจัดการมากไป ”


รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

4.ภาวะการขาดแคลนแรงงาน ปัจจุบันรัฐบาลไม่ค่อยเห็นความสำคัญ เพราะยังไม่เกิดปัญหา แต่หากอนาคตโดยเฉพาะทุเรียนมีปริมาณมากขึ้น จะขาดแคลนแรงงาน เช่น คนตัดทุเรียน เป็นอาชีพที่ต้องใช้ประสบการณ์และความสามารถ ประกอบกับที่ผ่านมา รัฐบาลไม่สร้างนวัตกรรม หรือ เครื่องมือในการลดต้นทุน หรือ ลดระยะเวลา ให้กับภาคเกษตร และอนาคต คนตัดทุเรียน จะมีค่าแรงที่สูงมาก เพราะเกิดการแย่งชิงแรงงาน เมื่อผลผลิตออกมาพร้อมๆกัน และเกษตรกรตัดไม่ทันรอบผลผลิต ก็จะเกิดผลผลิตเสียหายสูญมูลค่าทางเศรษฐกิจ


ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page